ตรวจปั้นจั่น-เครน-ลิฟท์เฮี๊ยบ
ปัจจุบันมีการใช้งานปั้นจั่น (เครนและลิฟต์ขนส่ง) เป็นจำนวนมากตามกำลังขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเครนเป็นเครื่องทุ่นแรงและอำนวยความสะดวกที่สำคัญในการดำเนินงานในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ กอปรกับในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการใช้งานปั้นจั่นเป็นข่าวตลอดเวลา ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงาน ได้มีการกำหนดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น (เครน)ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น พ.ศ. 2554 นั้น เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานทดสอบ โดยให้วิศวกรเครื่องกล(มีใบประกอบวิชาชีพ)เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อจัดทำข้อมูลรายการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นให้ทางนายจ้าง นำไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะส่งผลต่อความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างและผู้ปฏิบัติงานทุกรายในสถานประกอบกิจการต่าง ๆ รวมถึงเป็นการรักษาสินทรัพย์ที่ทำการยกเคลื่อนย้าย(บางครั้งมูลค่าทรัพย์สินนั้นสูงมากเกินกว่าจะเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยของระบบปั้นจั่น) ลักษณะงานและประเภทที่ใช้ปั้นจั่น (เครน)กำหนดเกณฑ์ช่วง เวลาทดสอบ
ปั้นจั่นสามารถแยกได้ตามประเภทและลักษณะของงานที่ใช้ปั้นจั่น (เครน)ดังต่อไปนี้
1. ปั้นจั่นที่ใช้ในงานก่อสร้าง
พิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ไม่เกิน 3 ตัน ให้ตรวจทดสอบตามวาระทุก 6 เดือน
พิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด มากกว่า 3 ตัน ให้ตรวจทดสอบตามวาระทุก 3 เดือน
2. ปั้นจั่นที่ใช้ในงานอื่น ๆ
พิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ตั้งแต่ 1 ตัน ไม่เกิน 3 ตัน ให้ทดสอบตามวาระทุก 1 ปี
พิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด มากกว่า 3 ตัน ไม่เกิน 50 ตัน ให้ทดสอบตามวาระทุก 6 เดือน
พิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด มากกว่า 50 ตัน ให้ทดสอบตามวาระทุก 3 เดือน
3. ปั้นจั่นที่ไม่มีพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดพิกัดยก
4. ปั้นจั่นที่หยุดการใช้งานตั้งแต่ 6 เดือนหรือซ่อมแซมที่มีผลต่อความปลอดภัย ให้ทดสอบใหม่ก่อนการใช้งาน
ลักษณะการทดสอบการรับน้ำหนักของปั้นจั่น(เครน)
วิศวกรต้องตรวจทดสอบการรับน้ำหนักของปั้นจั่น ตามอายุการใช้งาน ดังต่อไปนี้
1. ปั้นจั่นใหม่
ขนาดไม่เกิน 20 ตัน ให้ทดสอบการรับน้ำหนักที่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 1.25 เท่า
ขนาดมากกว่า 20 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ให้ทดสอบการรับน้ำหนักเพิ่มอีก 5 ตันจากพิกัดยกอย่างปลอดภัย
2. ปั้นจั่นที่ใช้งานแล้ว
ให้ทดสอบการรับน้ำหนักที่ 1.25 เท่าของน้ำหนักที่ใช้งานจริงสูงสุด โดยไม่เกินพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด
กรณีที่ปั้นจั่นไม่มีพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ให้วิศวกรเป็นผู้กำหนดพิกัดยกในการทดสอบ
3. น้ำหนักที่ใช้ทดสอบการยก อาจใช้น้ำหนักจริง หรือทดสอบด้วยน้ำหนักจำลอง (Load Simulation) ได้ (เน้นน้ำหนักจำลอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ)
4. เอกสารที่ใช้ในการตรวจสอบ จะใช้เป็นแบบที่ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแนะนำ ดังต่อไปนี้
4.1 แบบ ปจ.1 : รายการการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับปั้นจั่นเหนือศีรษะ ปั้นจั่นหอสูง และปั้นจั่นขาสูง (ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่)
4.2 แบบ ปจ.2 : รายการการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับรถปั้นจั่น และเรือปั้นจั่น เฮี๊ยบ(ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่)
5. เอกสารรายงานการตรวจทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น(เครน)
นายจ้างต้องจัดให้มีเอกสารและรายละเอียดดังนี้
ข้อมูลรายการตรวจทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับปั้นจั่น โดยมีวิศวกรเครื่องกลวิชาชีพที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นผู้รับรอง
ภาพถ่ายของวิศวกรขณะทดสอบ
สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
เก็บไว้เป็นหลักฐานให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้
รายละเอียดการตรวจสอบ
วิศวกรผู้ตรวจทดสอบปั้นจั่น(เครน)ต้องทำการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตาม กฏหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2552
ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น พ.ศ. 2554
6. โทษตามกฎหมายของนายจ้างที่ไม่จัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น
นายจ้างต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ วิธีการแก้ไขข้อบกพร่องของโครงสร้างหรือส่วนประกอบของปั้นจั่นส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดหรือความไม่สมบูรณ์เชิงวิศวกรรมตามบันทึกของวิศวกรผู้ทดสอบ
ตาม พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 53 นายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
7. กฎหมายอ้างอิง
พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2552
ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น พ.ศ. 2554